วันเสาร์ที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2555

รองเท้านารีเหลืองตรัง Paphiopedilum godefroyae

 
 
ชื่อวิทยาศาสตร์
Paphiopedilum godefroyae (Godefroy-Lebeuf) Stein
ชื่อวงศ์
ORCHIDACEAE
สกุล
รองเท้านารี
ชื่ออื่นๆ
เหลืองพังงา , ขาวชุมพร

ค้นพบเมื่อปี พ.ศ.2419 ขึ้นตามโขดหิน ถิ่นกำเนิดอยู่บริเวณเกาะรัง จังหวัดชุมพร ลักษณะเด่น คือ ใบลาย ท้องใบสีม่วง ปลายมนคล้ายรูปลิ้น ก้านดอกสีม่วงมีขน ดอกโตสีครีมเหลือง กลีบนอกบนรูปกลม ปลายยอดแหลมเล็กน้อย กลีบในสองข้างกลมรี ปลายกลีบเว้า ประจุดลายสีน้ำตาลจางตรงโคนกลีบแล้วค่อยจางออกตอนปลาย ปากกระเปาะขาวไม่มีลาย
ลักษณะ: พุ่มต้นกว้างประมาณ 15-20 ซม. ใบกว้าง 2.5-3.5 ซม. ยาว 15-17 ซม. ใบด้านบนเป็นลายสีเขียวเข้มสลับเขียวเทา บางต้นสีเขียวเข้มจะมากกว่าจนดูคล้ายใบสีเขียวเข้ม ใต้ท้องใบสีม่วงคล้ำ ดอกค่อนข้างกลม กว้างประมาณ 5-8 ซม. ใหญ่กว่ารองเท้านารีขาวสตูลเล็กน้อย สีพื้นดอกมีทั้ง สีขาว สีครีม สีเหลืองอ่อนถึงเหลืองเข้ม มีลายสีม่วงแดงถึงม่วงน้ำตาลกระจายหนาแน่นทั่วกลีบดอก ก้านช่อดอกค่อนข้างสั้นประมาณ 5-10 ซม. ช่อหนึ่งมี 1-2 ดอก
ฤดูกาลออกดอก: มีนาคม มิถุนายน

แหล่งที่พบ: พบอยู่ตามภูเขาหินปูนที่อยู่ติดชายฝั่งทะเล หรือตามเกาะที่มีลักษณะเป็นหน้าผาสูงชัน โดยขึ้นอยู่สูง 10 –100 เมตร จากระดับน้ำทะเล ตามรอยแยกของหินที่ปกคุมไปด้วยมอสส์ ซากใบไม้ที่ผุพังทับถมด้วยตะกอนดิน โดยขึ้นอยู่ตามซอกหินที่ได้รับร่มเงาของชะง่อนหิน หรือพุ่มไม้เตี้ยที่มีใบปกคุมหนาทึบ แสงแดดและน้ำฝนไม่สามารถสัมผัสได้โดยตรง แต่จะได้รับแสงที่สะท้อนจากน้ำทะเล เป็นรองเท้านารีที่พบอยู่ในสภาพแวดล้อมเดียวกับรองเท้านารีขาวสตูล พบในจังหวัดตรัง กระบี่ พังงา สตูล และบริเวณหมู่เกาะในฝั่งทะเลด้านตะวันตก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น