กล้วยไม้สกุลสิงโตกลอกตาเป็นกล้วยไม้สกุลใหญ่ พบตามธรรมชาติประมาณ 1,000 ชนิด มากเป็นอันดับสองรองจากกล้วยไม้สกุลหวาย พบกระจายพันธุ์แถบทวีปเอเชีย เช่น อินเดีย พม่า ไทย ลาว เขมร เวียดนาม มาเลเชีย แถบแปซิฟิก เช่น ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ หมู่แกะแปซิฟิก และบางส่วนกระจายพันธุ์อยู่ในทวีปแอฟริกา สำหรับประเทศไทยพบกระจัดกระจายตามธรรมชาติในทั่วทุกภาคของประเทศประมาณ 140 ชนิด และแต่ละชนิดมักใช้คำว่า "สิงโต" นำหน้า
กล้วยไม้สกุลสิงโตกลอกตา มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่าสกุล "บัลโบฟิลลัม" (Bulbophyllum) ซึ่งมาจากรากศัพท์ในภาษากรีซคือ bulbos แปลว่า "หัว" กับ phyllon แปลว่า "ใบ" หมาถึงลักษณะที่ก้านใบพองคล้ายหัว สำหรับในภาษาไทยที่เรียกกันว่า "สิงโตกลอกตา" นั้น เจ้าฟ้ากรมหลวงนครสวรรค์วรพินิตได้ทรงเรียบเรียงไว้ในหนังสือ "ตำราเล่นกล้วยไม้" เมื่อปี พ.ศ.2459 เกี่ยวกับรูปร่างลักษณะของกล้วยไม้สกุลเซอร์โรเพตาลัม (Cirrhopetalum) ซึ่งเป็นสกุลที่มีลักษณะใกล้เคียงกับสกุลบัลโบฟิลลัมมาก และในปัจจุบันนี้นักพฤกษศาสตร์ได้จัดรวมไว้ในสกุลบัลโบฟิลลัม ดังนี้
ลูกกล้วยรูปกลมมักเล็กขนาดผลพุทรา บางชนิดเขื่องกว่านั้น แลบางชนิดใบยาวตั้งคืบก็ได้ มีใบลูกกล้วยละ 1 ใบ สีเขียวแก่ด้านๆ ดอกลำพังตัวกลีบนอกสองข้างนั้นใหญ่ยาวเกินส่วน รวบปลายแหลมแลพับเบื้องโคนกลีบทบไปข้างหน้า ปลายกลีบซ้อนกันฤๅมาประสานติดกัน ทำนองห่มสไบคล้องคอ ปากเล็กเกือบแลไม่เห็น แลรังเกสรกระดิกได้เป็นดอกไม้ไหว ซึ่งเป็นเหตุให้เรียกกันในนี้ว่า "สิงโตกลอกตา"
กล้วยไม้สิงโตกลอกตาเป็นกล้วยไม้ที่มีการเติบโตแบบ Sympodial เช่นเดียวกับ กล้วยไม้สกุลหวาย สกุลคัทลียา มีเหง้าและลำลูกกล้วย ซึ่งต่างกันแล้วแต่ชนิด มีทั้งชนิดที่มีลำลูกกล้วยขนาดเล็ก ขนาดใหญ่ บางชนิดลำลูกกล้วยตั้งตรง บางชนิดนอนราบไปกับเหง้า มีใบที่ปลายลำลูกกล้วยหนึ่งหรือสองใบแล้วแต่ชนิด มีตั้งแต่ใบเล็กมากจนถึงใบค่อนข้างใหญ่ ดอกมีทั้งดอกเดี่ยวและดอกช่อ ก้านช่อดอกเกิดที่ฐานของลำลูกกล้วย บางชนิดเกิดที่ข้อของเหง้า ดอกมีตั้งแต่ขนาดเล็กมากจนถึงค่อนข้างใหญ่ ลักษณะดอกและสีสันสวยงามแตกต่างกันแล้วแต่ชนิด
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น