การจะปลูกไม้นิ้วให้งามนอกจากใช้กระถางไม้ กระถางพลาสติกแล้วเรายัง
ประหยัดได้จากการใช้วัสดุเหลือใช้นำมาประยุกต์เพื่อลดค่าใช้จ่าย
เริ่มจากซื้อลวด เบอร์ 12 ขนาด 2.67 มม แบบชุบกันสนิม ราคา ก.ก. ละ
35-50 บาท หาซื้อได้ที่ร้านขายวัสดุก่อสร้าง ร้านใหญ่ๆหน่อย
นำมาตัดให้ยาว 40 ซม ดังรูป
จากนั้นจึงหารากไม้หรือกิ่งไม้เนื้อแข็ง ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 10 ซม
นำมาตัดด้วยเลื่อยให้มีความยาว 30 ซม จากนั้นเจาะด้วยสว่านขนาดขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 3 มม จำนวน 2 รูห่างกัน 4 ซม
วันพฤหัสบดีที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2555
กล้วยไม้สกุลช้าง Rhynchostylis
จากการสำรวจพบว่ากล้วยไม้สกุลช้างที่มีอยู่ในโลก มีถิ่นกำเนิดอยู่ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ไทย พม่า มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ประเทศในแถบอินโดจีน อินเดีย ศรีลังกา ภาคใต้ของหมู่เกาะในทะเลจีน และหมู่เกาะอินเดียตะวันออก สำหรับในประเทศไทยพบว่ากล้วยไม้สกุลช้างมีกระจายพันธุ์อยู่ทุกภาคของประเทศ บางภาคอาจมีกล้วยไม้สกุลช้างชนิดหนึ่งแต่อาจไม่มีอีกชนิดหนึ่ง กล้วยไม้สกุลช้างที่พบตามธรรมชาติเพียง 4 ชนิด คือ ช้าง (Rhynchostylis gigantea) ไอยเรศหรือพวงมาลัย (Rhynchostylis retusa) เขาแกะ (Rhynchostylis coelestis) และช้างฟิลิปปินส์ (Rhynchostylis violacea) สำหรับ 3 ชนิดแรกมีถิ่นกำเนิดในประเทศไทยและประเทศใกล้เคียง ส่วนช้างฟิลิปปินส์มีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศฟิลิปปินส์
กล้วยไม้สกุลช้างมีการเจริญเติบโตแบบฐานเดี่ยว มีลักษณะแตกต่างไปจากกล้วยไม้สกุลอื่นๆ คือ มีลำต้นสั้น แข็งแรง ใบแข็ง หนาค่อนข้างยาว อวบน้ำ เรียงชิดกันอยู่บนลำต้น ใบเป็นร่อง หน้าตัดของใบรูปตัววี สันล่างของใบเห็นได้ชัด ใบอาจมีเส้นใบเป็นเส้นขนานสีจางๆ หลายๆ เส้นตามความยาวของใบ ปลายใบหยักมนหรือเป็นฟันแหลมไม่เท่ากัน รากเป็นระบบรากอากาศ มีขนาดใหญ่ แขนงรากใหญ่ ปลายรากมีสีเขียวซึ่งสามารถปรุงอาหารด้วยวิธีสังเคราะห์ด้วยแสงได้ ช่อดอกอาจห้อยลงหรือตั้งขึ้น ความยาวของช่อดอกเกือบเท่าๆ กับความยาวของใบ ดอกมีเป็นจำนวนมากแน่นช่อดอก กลีบนอกและกลีบในของดอกแผ่ออก อาจมีจุดหรือไม่มีจุดสีม่วงหรือสีน้ำเงินก็ได้ ขนาดของกลีบนอกโตกว่ากลีบใน เส้าเกสรสั้น ปากไม่มีข้อพับ ปลายปากไม่หยัก หรือหยักเป็นลอนเล็กๆ 3 ลอน ปลายปากชี้ตรงไปข้างหน้า ปากเชื่อมต่อกับฐานสั้นๆ ของเส้าเกสร จึงดูเหมือนว่าไม่มีฐานของเส้าเกสร เดือยของดอกแบน ชี้ตรงไปข้างหลัง มีอับเรณู 2 ก้อน แยกออกจากกัน ออกดอกปีละครั้ง บ้างต้นอาจมีดอกครั้งละหลายๆ ช่อ
กล้วยไม้สกุลสิงโตกลอกตา Bulbophyllum
กล้วยไม้สกุลสิงโตกลอกตาเป็นกล้วยไม้สกุลใหญ่ พบตามธรรมชาติประมาณ 1,000 ชนิด มากเป็นอันดับสองรองจากกล้วยไม้สกุลหวาย พบกระจายพันธุ์แถบทวีปเอเชีย เช่น อินเดีย พม่า ไทย ลาว เขมร เวียดนาม มาเลเชีย แถบแปซิฟิก เช่น ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ หมู่แกะแปซิฟิก และบางส่วนกระจายพันธุ์อยู่ในทวีปแอฟริกา สำหรับประเทศไทยพบกระจัดกระจายตามธรรมชาติในทั่วทุกภาคของประเทศประมาณ 140 ชนิด และแต่ละชนิดมักใช้คำว่า "สิงโต" นำหน้า
กล้วยไม้สกุลสิงโตกลอกตา มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่าสกุล "บัลโบฟิลลัม" (Bulbophyllum) ซึ่งมาจากรากศัพท์ในภาษากรีซคือ bulbos แปลว่า "หัว" กับ phyllon แปลว่า "ใบ" หมาถึงลักษณะที่ก้านใบพองคล้ายหัว สำหรับในภาษาไทยที่เรียกกันว่า "สิงโตกลอกตา" นั้น เจ้าฟ้ากรมหลวงนครสวรรค์วรพินิตได้ทรงเรียบเรียงไว้ในหนังสือ "ตำราเล่นกล้วยไม้" เมื่อปี พ.ศ.2459 เกี่ยวกับรูปร่างลักษณะของกล้วยไม้สกุลเซอร์โรเพตาลัม (Cirrhopetalum) ซึ่งเป็นสกุลที่มีลักษณะใกล้เคียงกับสกุลบัลโบฟิลลัมมาก และในปัจจุบันนี้นักพฤกษศาสตร์ได้จัดรวมไว้ในสกุลบัลโบฟิลลัม ดังนี้
ลูกกล้วยรูปกลมมักเล็กขนาดผลพุทรา บางชนิดเขื่องกว่านั้น แลบางชนิดใบยาวตั้งคืบก็ได้ มีใบลูกกล้วยละ 1 ใบ สีเขียวแก่ด้านๆ ดอกลำพังตัวกลีบนอกสองข้างนั้นใหญ่ยาวเกินส่วน รวบปลายแหลมแลพับเบื้องโคนกลีบทบไปข้างหน้า ปลายกลีบซ้อนกันฤๅมาประสานติดกัน ทำนองห่มสไบคล้องคอ ปากเล็กเกือบแลไม่เห็น แลรังเกสรกระดิกได้เป็นดอกไม้ไหว ซึ่งเป็นเหตุให้เรียกกันในนี้ว่า "สิงโตกลอกตา"
กล้วยไม้สิงโตกลอกตาเป็นกล้วยไม้ที่มีการเติบโตแบบ Sympodial เช่นเดียวกับ กล้วยไม้สกุลหวาย สกุลคัทลียา มีเหง้าและลำลูกกล้วย ซึ่งต่างกันแล้วแต่ชนิด มีทั้งชนิดที่มีลำลูกกล้วยขนาดเล็ก ขนาดใหญ่ บางชนิดลำลูกกล้วยตั้งตรง บางชนิดนอนราบไปกับเหง้า มีใบที่ปลายลำลูกกล้วยหนึ่งหรือสองใบแล้วแต่ชนิด มีตั้งแต่ใบเล็กมากจนถึงใบค่อนข้างใหญ่ ดอกมีทั้งดอกเดี่ยวและดอกช่อ ก้านช่อดอกเกิดที่ฐานของลำลูกกล้วย บางชนิดเกิดที่ข้อของเหง้า ดอกมีตั้งแต่ขนาดเล็กมากจนถึงค่อนข้างใหญ่ ลักษณะดอกและสีสันสวยงามแตกต่างกันแล้วแต่ชนิด
กล้วยไม้สกุลฟาแลนอปซีส ( Phalaenopsis)
กล้วยไม้สกุลฟาแลนอปซีสปลูกเลี้ยงกันในประเทศไทยมานานแล้ว แต่ไม่ค่อยมีผู้สนใจมากนักเนื่องจากดอกมีขนาดเล็ก แต่ปัจจุบันกล้วยไม้สกุลนี้กำลังเป็นที่สนใจของผู้ปลูกเลี้ยงกล้วยไม้ทั่วไป ทั้งนี้ก็เพราะกล้วยไม้สกุลนี้ได้ถูกปรับปรุงพันธุ์และผสมกันมาหลายทอด จนทำให้สวยงามทั้งรูปทรงดอกและสีของดอก ดอกกลมใหญ่ กลีบหนา ดอกมีหลายสี เช่น สีขาว สีชมพู สีเหลือง ก้านช่อยาว เหมาะสำหรับปักแจกัน ต้นหนึ่งออกดอกได้หลายช่อ แต่ละพันธุ์ออกดอกต่างเดือนกัน บางชนิดออกดอกในเดือนที่ตลาดต้องการดอกไม้ตัดดอก จึงทำให้ผู้ปลูกเลี้ยงกล้วยไม้ตัดดอกสนใจการเลี้ยงกล้วยไม้สกุลนี้มากขึ้น
กล้วยไม้ฟาแลนอปซีส มีแหล่งกำเนิดตามธรรมชาติและกระจายพันธุ์อยู่ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก เช่น ประเทศฟิลิปปินส์ บอร์เนียว ชวา สุมาตรา มาเลเซีย สำหรับประเทศไทยมีกล้วยไม้สกุลนี้อยู่ 2-3 ชนิด เช่น เขากวาง กาตาฉ่อ ขนาดของดอกมีใหญ่และเล็กตามลักษณะของพันธุ์ แต่ที่นิยมปลูกกันอยู่ในขณะนี้เป็นพันธุ์ลูกผสม ที่มีการปรับปรุงพันธุ์และผสมกันมาหลายทอด จนดอกกลมใหญ่ ลักษณะของลำต้นทรงเตี้ยตรง การเจริญเติบโตเป็นแบบโมโนโพเดี้ยล ใบอวบน้ำ ค่อนข้างหนาแผ่แบนรูปคล้ายใบพาย ดอกกลมใหญ่ ขนาดกว้างประมาณ 5-8 ซม. กลีบหนา ดอกมีหลายสี เช่น สีขาว สีชมพู สีเหลือง มองดูดอกแล้วงาม ทั้งฟอร์มดอกและสี ก้านช่อยาว บางช่อยาวถึง 80 ซม. ช่อหนึ่งมีหลายดอก เรียงไปตามก้านช่ออย่างมีระเบียบ บางต้นแยกออกเป็นหลายช่อ ดอกบานทน ถ้าบานอยู่กับต้นสามารถบานอยู่ได้นานเป็นเดือน เป็นกล้วยไม้ที่เลี้ยงง่ายสามารถเจริญงอกงามและออกดอกให้ได้ดีในสภาพสิ่งแวดล้อมต่างๆ กัน นอกจากนี้ยังสามารถผสมข้ามสกุลกับสกุลกล้วยไม้สกุลต่างๆ ได้หลายสกุล เช่น ผสมกับสกุลแวนด้า ผสมกับสกุลอะแรคนิส ผสมกับสกุลเรแนนเทอร่า เป็นต้น
การปลูกกล้วยไม้ฟาแลนอปซีสลงกระถางหรือกระเช้าไม้ ควรตั้งต้นกล้วยไม้ตรงกลางให้โคนต้นส่วนเหนือรากอยู่ต่ำกว่าระดับขอบภาชนะปลูกเล็กน้อย การวางต้นกล้วยไม้สูงเกินไปจะทำให้รากกล้วยไม้ได้รับความชื้นไม่เพียงพอ แต่ถ้าปลูกต่ำเกินไปกล้วยไม้ก็จะอยู่ในสภาพที่ชื้นหรือแฉะเกินไป การใส่เครื่องปลูกควรใส่แค่กลบรากเท่านั้น อย่าใส่เครื่องปลูกมากเกินไปจนกระทั่งสูงขึ้นมากลบส่วนของส่วนโคนต้นเพราะอาจจะทำให้โคน
ต้นแฉะและโคนใบเน่าได้ การปลูกควรปลูกก่อนเข้าฤดูฝนคือประมาณเดือนมีนาคม ถ้าปลูกในฤดูฝนอากาศมีความชื้นสูงและกล้วยไม้กำลังอวบน้ำ อาจทำให้ใบและยอดเน่าได้
วันพุธที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2555
กล้วยไม้สกุลกุหลาบ (Aerides)
กล้วยไม้สกุลกุหลาบ (Aerides) เป็นกล้วยไม้ที่พบตามธรรมชาติในป่าทั่วทุกภาคของประเทศไทยและประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเกาะอาศัยอยู่ตามต้นไม้ อาจขึ้นเป็นต้นเดียวโดดๆ หรือขึ้นเป็นกลุ่มใหญ่ มีการเจริญเติบโตแบบฐานเดี่ยว บางต้นมียอดเดียว บางต้นแตกเป็นกอ มีหลายยอด เมื่อต้นสูงหรือยาวขึ้นจะห้อยย้อยลงมา แต่ปลายยอดยังคงชี้ขึ้นข้างบน ช่อดอกส่วนใหญ่โค้งปลายช่อห้อยลงมา รากเป็นระบบรากอากาศ ดอกมีขนาดปานกลาง มักมีกลิ่นหอม
มีเดือยดอกเรียวแหลมหรือปลายงอนออกมาทางด้านหน้าของดอก ซึ่งเป็นลักษณะที่แตกต่างกับกล้วยไม้ชนิดอื่นๆ กลีบดอกผึ่งผายสวยงามสะดุดตา เป็นกล้วยไม้ที่เลี้ยงง่าย มีบทบาทสำคัญในการผสมพันธุ์เพื่อการปรับปรุงพันธุ์ สามารถผสมในสกุลเดียวกัน และผสมข้ามสกุลต่างๆ เช่น ผสมกับสกุลแวนด้าเป็นสกุลแอริโดแวนด้า (Aeridovanda) ผสมกับสกุลช้างเป็นสกุลแอริโดสไตลิส (Aeridostylis)
วันอาทิตย์ที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2555
เอื้องไอยเรศ
ชื่อชาวกล้วยไม้เรียก : ไอยเรศ (สกุลช้าง)
ชื่อวิทย์ : Rhynchostylis retusa (L.) Blumeการกระจายพันธุ์ : พบในหลายพื้นที่ ไทย เขมร พม่า ลาว
ลักษณะ : กล้วยไม้รากอากาศ มีกลิ่นหอมอ่อน ๆ คนจมูกไม่ดีไม่ได้กลิ่นแน่ ๆ
ลักษณะดอก : เป็นช่อ ดอกห้วยหัวลงมา ดอกเล็ก ๆ
การขยายพันธุ์ : แยกหน่อ , เพาะเมล็ดโดยการส่งแลป , ปั่นตา ฯลฯ
ลักษณะ : กล้วยไม้รากอากาศ มีกลิ่นหอมอ่อน ๆ คนจมูกไม่ดีไม่ได้กลิ่นแน่ ๆ
ลักษณะดอก : เป็นช่อ ดอกห้วยหัวลงมา ดอกเล็ก ๆ
การขยายพันธุ์ : แยกหน่อ , เพาะเมล็ดโดยการส่งแลป , ปั่นตา ฯลฯ
เอื้องไอยเรศ เป็นกล้วยไม้ในประเทศไทยมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Rhynchostylis retusa (L.) Blume มีลักษณะมีลำต้นใหญ่แข็งแรงคล้ายกล้วยไม้ช้าง แต่ใบยาวกว่าและแคบกว่า ใบยาวประมาณ 40 เซนติเมตร กว้างประมาณ 4 เซนติเมตร มีทางสีเขียวแก่สลับกับสีเขียวอ่อนตามความยาวของใบคล้ายกล้วยไม้ช้าง ปลายใบมีลักษณะเป็นฟันแหลมไม่เท่ากัน ช่อดอกเป็นรูปทรงกระบอก โค้งห้อยลง ยาวประมาณ 30-50 เซนติเมตร ก้านช่อยาวประมาณ 7-10 เซนติเมตร มีดอกแน่นช่อ ในหนึ่งช่อมีดอกประมาณ 150 ดอก มากกว่ากล้วยไม้ช้าง รูปร่างลักษณะของช่อดอกที่ยาวเป็นรูปทรงกระบอกคล้ายกับลักษณะของพวงมาลัย จึงเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ?พวงมาลัย? ต้นใหญ่ๆ มักจะแตกหน่อที่โคนต้น เกิดเป็นกอใหญ่ขึ้นได้ ดอกขนาดมีขนาดประมาณ 1.2-1.5 เซนติเมตร สีพื้นของกลีบนอกและกลีบในของดอกเป็นสีขาว มีจุดสีม่วงประปราย เดือยดอกมีสีม่วงอ่อน แผ่นปากมีลักษณะโค้งขึ้นบนแล้วยื่นไปข้างหน้า มีแต้มสีม่วงตรงกลางแผ่นปากส่วนโคนและปลายสุดแผ่นปากเป็นสีขาว ปลายแผ่นปากเว้า เส้าเกสรเห็นชัด ดอกจะบานอยู่ได้ประมาณ 2 สัปดาห์ ฤดูกาลออกดอกอยู่ในเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม พบได้ในทุกภาคของประเทศไทย
เอื้องไอยเรศมีชื่อพื้นเมืองหลายอย่างไม่ว่า ไอยเรศ, เอื้องพวงหางรอก, เอื้องหางฮอก, เอื้องไอยเรศ
กล้วยไม้สกุลเข็ม Ascocentrum
กล้วยไม้สกุลเข็มได้สมญาว่าเป็น “ราชินีของกล้วยไม้แวนด้าแบบมินิหรือแบบกระเป๋า” เพราะเป็นกล้วยไม้ที่มีลักษณะเล็กทั้งขนาดต้น ช่อดอก ขนาดดอก และมีดอกที่มีสีสดใสสะดุดตามากกว่ากล้วยไม้อื่นๆ ในธรรมชาติพบกล้วยไม้สกุลนี้กระจายพันธุ์อยู่ในทวีปเอเชีย ตั้งแต่อินเดีย ศรีลังกา พม่า ไทย ลงไปถึงอินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ จัดเป็นกล้วยไม้ประเภทไม่แตกกอ มีการเจริญเติบโตขึ้นไปทางส่วนยอด เช่นเดียวกับกล้วยไม้สกุลช้าง สกุลแวนด้า สกุลกุหลาบ มีลำต้นสั้น ใบเรียงแบบซ้อนทับกัน รากเป็นระบบรากอากาศ ออกดอกตามข้อของลำต้นระหว่างใบ ช่อดอกตั้งตรงเป็นรูปทรงกระบอก จัดเป็นกล้วยไม้ประเภทแวนด้าที่มีดอกขนาดเล็ก
ในประเทศไทยมีกล้วยไม้สกุลเข็มแท้อยู่ 4 ชนิดคือ เข็มแสด เข็มแดง เข็มม่วง และเข็มหนู แต่ที่มีบทบาทสำคัญในการผสมปรับปรุงพันธุ์ คือ เข็มแดง เข็มแสด และเข็มม่วง
ที่มา http://www.panmai.com/Orchid/Rhy/rhy.shtml
ที่มา http://www.panmai.com/Orchid/Rhy/rhy.shtml
กล้วยไม้สกุลหวาย Dendrobium
กล้วยไม้สกุลหวาย (Dendrobium) เป็นกล้วยไม้สกุลใหญ่ที่สุด มีการแพร่กระจายพันธุ์ออกไปในบริเวณกว้างทั้งในทวีปเอเชียและหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก นักพฤกษศาสตร์ได้จำแนกออกเป็นหมู่ประมาณ 20 หมู่ และรวบรวมกล้วยไม้ชนิดนี้ที่ค้นพบแล้วได้ประมาณ 1,000 ชนิดพันธุ์
กล้วยไม้สกุลหวาย มีลักษณะการเจริญเติบโตแบบซิมโพเดียล คือ มีลำลูกกล้วย เมื่อลำต้นเจริญเติบโตเต็มที่แล้วจะแตกหน่อเป็นลำต้นใหม่และเป็นกอ ใบแข็งหนาสีเขียว ดอกมีลักษณะทั่วไปของกลีบชั้นนอกคู่บนและคู่ล่างขนาดยาวพอๆ กันโดยกลีบชั้นนอกบนจะอยู่อย่างอิสระเดี่ยวๆ ส่วนกลีบชั้นนอกคู่ล่างจะมีส่วนโคน ซึ่งมีลักษณะยื่นออกไปทางด้านหลังของส่วนล่างของดอกประสานเชื่อมติดกับฐานหรือสันหลังของเส้าเกสร และส่วนโคนของกลีบชั้นนอกคู่ล่างและส่วนฐานของเส้าเกสรซึ่งประกอบกันจะปูดออกมา มีลักษณะคล้ายเดือยที่เรียกว่า “เดือยดอก” สำหรับกลีบชั้นในทั้งสองกลีบมีลักษณะต่างๆ กันแล้วแต่ชนิดพันธุ์ของกล้วยไม้นั้นๆ
กล้วยไม้สกุลแวนด้า Vanda
แวนด้าเป็นกล้วยไม้ประเภทโมโนโพเดี้ยล ไม่แตกกอ เจริญเติบโตไปทางยอด รากเป็นรากอากาศ ใบมีลักษณะกลม แบนหรือร่อง ใบซ้อนสลับกัน ช่อดอกจะออกด้านข้างของลำต้นสลับกับใบ ช่อดอกยาวและแข็ง กลีบนอกและกลีบในมีรูปร่างคล้ายคลึงกัน โคนกลีบแคบ และไปรวมกันที่โคนเส้าเกสร กลีบดอกในล่างด้านใต้มีเดือยแหลมยื่นออกมาเป็นส่วนท้ายของปากกระเป๋า ปากกระเป๋าของแวนด้าเป็นแบบธรรมดาแบนเป็นแผ่นหนาแข็ง และพุ่งออกด้านหน้า รูปลักษณะคล้ายช้อน หูกระเป๋าทั้งสองข้างแข็งและตั้งขึ้น สีดอกมีมากมายแตกต่างกันตามแต่ละชนิด
กล้วยไม้สกุลแวนด้าพบในป่าตามธรรมชาติประมาณ 40 ชนิด มีกระจายพันธุ์อยู่ในทวีปเอเชีย ตั้งแต่อินเดีย ศรีลังกา พม่า ไทย อินโดนีเซีย จนถึงฟิลิปปินส์ แวนด้าได้รับการปรับปรุงสายพันธุ์ขึ้นอีกหลายพันธุ์ ปัจจุบันได้มีการจำแนกประเภทของแวนด้า โดยอาศัยรูปร่างลักษณะของใบออกเป็น 4 ประเภท คือ
- แวนด้าใบกลม มีลักษณะของใบกลมยาวทรงกระบอก ต้นสูง ข้อห่าง สังเกตได้ที่ใบติดอยู่ห่างๆ กัน มีดอกช่อละหลายดอก แต่ดอกจะบานติดต้นอยู่คราวละ 2–3 ดอกเท่านั้น เมื่อดอกข้างบนบานเพิ่มขึ้น ดอกข้างล่างจะโรยไล่กันขึ้นไปเรื่อยๆ การปลูกใช้ดอกจึงนิยมปลิดดอกมากกว่าตัดดอกทั้งช่อ
- แวนด้าใบแบน ลักษณะใบแผ่แบนออก ถ้าตัดมาดูหน้าตัดจะเป็นรูปตัววี มีข้อถี่ปล้องสั้น ใบซ้อนชิดกัน ปลายใบโค้งลงและจักเป็นแฉก
- แวนด้าใบร่อง มีรูปทรงของใบและลำต้นคล้ายใบแบนมากกว่าใบกลม แวนด้าประเภทนี้ไม่พบในป่าธรรมชาติ การนำมาปลูกเลี้ยงเป็นพันธุ์ลูกผสมทั้งสิ้น โดยนำแวนด้าใบกลมมาผสมกับแวนด้าใบแบน
- แวนด้าก้างปลา มีรูปทรงของใบและลำต้น กิ่งใบกลมกับใบแบน พบตามป่าธรรมชาติน้อยมาก เพราะกล้วยไม้พันธุ์นี้เป็นหมันทั้งสิ้น
ในบรรดาแวนด้าทั้ง 4 ประเภทนี้ แวนด้าใบกลมเป็นแวนด้าที่เลี้ยงง่ายที่สุด สามารถปลูกลงแปลงกลางแจ้งได้โดยไม่ต้องมีโรงเรือน แต่ดอกมักจะบานไม่ทน ส่วนที่เลี้ยงยากที่สุดคือ แวนด้าใบแบน มีหลายพันธุ์ ทั้งดอกใหญ่และดอกเล็ก แต่ที่ได้รับความนิยมได้แก่ ฟ้ามุ่ย เพราะดอกใหญ่ สีสวย การเลี้ยงแวนด้าใบแบนจำเป็นต้องมีโรงเรือนเพราะต้องการแสงที่พอเหมาะ สำหรับแวนด้าใบร่องเป็นลูกผสมระหว่างใบกลมและใบแบน ถูกผสมขึ้นเพื่อให้ปลูกเลี้ยงง่ายขึ้น แต่ดอกมักจะสีไม่สวยและปากหักง่าย
กล้วยไม้สกุลแคทลียา Cattleya
แคทลียาเป็นกล้วยไม้ที่ได้รับความนิยมปลูกเลี้ยงอย่างกว้างขวางในหลายประเทศ เนื่องจากแคทลียาเป็นกล้วยไม้ที่มีดอกขนาดใหญ่ที่สุดและสีสวยงามที่สุด บางชนิดมีกลิ่นหอม และถือกันว่าแคทลียาเป็น ราชินีแห่งกล้วยไม้ และเป็นสัญลักษณ์สากลของกล้วยไม้ทั่วไป
แคทลียาเป็นกล้วยไม้ที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในเขตร้อนแถบอเมริกากลางและอเมริกาใต้ตอนเหนือ เป็นกล้วยไม้ที่เจริญเติบโตและมีรูปทรงแบบซิมโพเดี้ยล คือมีเหง้าแนบไปตามเครื่องปลูก เหง้าอาจจะมีทั้งยาวและสั้น มีรากงอกเจริญจากเหง้า ไม่มีรากแขนง เป็นระบบรากกึ่งอากาศดูดอาหารจากอากาศและเครื่องปลูก แคทลียาเป็นกล้วยไม้ที่มีลำลูกกล้วย มีหลายลักษณะ บางชนิดลำลูกกล้วยเป็นข้อปล้อง รูปทรงของลำป่องตรงกลางหรือค่อนไปข้างบนของลำเล็กน้อย มีหน้าที่เก็บสะสมอาหาร เหนือข้อที่โคนลำจะมีตา 2 ตา คือตาซ้าย และตาขวา เป็นตาแตกลำใหม่ง่ายที่สุด บางชนิดที่ลำลูกกล้วยอ้วนป้อม บางชนิดเป็นรูปทรงกระบอกหรือบิดเป็นเกลียวเล็กน้อย ผิวพื้นของลำอาจเกลี้ยงหรือเป็นร่องตามความยาวของลำ เมื่อกล้วยไม้เจริญเติบโต ลำที่ 1 หรือเรียกว่าลำหลัง จะแตกตาออกแล้วเจริญเป็นลำที่ 2 หรือเรียกว่าลำหน้า เมื่อลำที่ 2 เจริญดีแล้วก็จะแตกตาออกเป็นลำที่ 3 และที่ 4 ออกไปเรื่อยๆ บางครั้งตาแตกออกเป็น 2 ทางเรียกว่า ไม้ 2 หน้า จึงทำให้ดูเป็นกอใหญ่ โดยมีเหง้าเป็นส่วนที่เชื่อมโยงของลำลูกกล้วยลำต่อลำ และเป็นส่วนของลำที่เจริญออกจากลำเดิมแคทลียามีใบเกิดที่ส่วนปลายลำลูกกล้วยเท่านั้น ในลำใหม่ที่กำลังเจริญใบส่วนมากแบน แต่บางชนิดใบกลมรูปทรงกระบอก ใบอาจมีหรือไม่มีกาบ รูปลักษณะค่อนข้างหนาแข็ง แต่ไม่เปราะ ลำลูกกล้วยลำหนึ่งอาจจะมีใบเพียงใบเดียวหรือสองใบก็ได้ ลักษณะของใบใช้ในการแบ่งประเภทของกล้วยไม้สกุลแคทลียา โดยแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
- ประเภทใบเดี่ยว เป็นแคทลียาประเภทที่ปลายลำลูกกล้วยมีใบเพียงใบเดียวเท่านั้น แคทลียาประเภทนี้มักออกดอกน้อย ช่อหนึ่งอาจมีเพียง 1 หรือ 2 ดอกเท่านั้น ลักษณะดอกใหญ่ ช่อดอกสั้น
- ประเภทใบคู่ เป็นแคทลียาประเภทที่ลำลูกกล้วยมี 2 ใบ อาจจะมีใบถึง 3 ใบก็ได้ แคทลียาประเภทนี้จะออกดอกเป็นช่อ ช่อหนึ่งมีหลายดอก ดอกเล็กช่อยาว
แคทลียาออกดอกที่ปลายลำลูกกล้วย เมื่อออกดอกจะออกลำหน้าซึ่งเมื่อมีลำหน้าหลายลำเวลาออกดอกจะออกดอกทีละมากๆ บางครั้งอาจมีถึง 10 ช่อ การออกดอกในแต่ละช่อ ช่อดอกหนึ่งๆ อาจมีดอกเพียง 1 ดอก, 2 ดอก, 3 ดอก หรือบางชนิดอาจมีถึง 10 ดอกก็ได้ ลักษณะของกลีบดอกมีกลีบนอก 3 กลีบ อยู่ข้างบน 1 กลีบ ข้างล่าง 2 กลีบ ขนาดเท่าๆ กัน กลีบในมี 3 กลีบ กลีบใน 2 กลีบบนมีรูปร่างเหมือนกัน โดยปกติมีขนาดใหญ่กว่ากลีบนอก กลีบในที่ 3 อยู่ที่ตอนล่างมีรูปร่างไม่เหมือนกับกลีบในบน กลีบจะม้วนทั้ง 2 ข้างเรียกว่า ปาก หรือ กระเป๋า ปากมีหูกว้าง ริมปากหยักเป็นคลื่นและมีสีเข้มกว่าส่วนอื่นๆ ภายในปากมีเส้นเกสรค่อนข้างยาวและโค้งเล็กน้อยยื่นออกมา แคทลียามีเกสรตัวผู้อยู่ตอนปลายเส้าเกสรเป็นคู่มี 2 คู่ เกสรตัวเมียอยู่ตอนล่าง เส้าเกสรนี้เป็นที่รวมของอวัยวะตัวเมียซึ่งมีรังไข่อยู่ติดกับเส้าเกสรด้านล่างเห็นเป็นลักษณะคอดเล็กยาวชัดเจนเมื่อติดฝัก ซึ่งฝักนี้จะมีเมล็ดเป็นผงเล็กมากอยู่ภายในเป็นจำนวนมาก เมื่อแก่จัดฝักก็จะแตกและเมล็ดจะแพร่กระจายปลิวไปตกยังที่ต่างๆ เมื่อมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมก็จะงอกเจริญเป็นต้นใหม่และขยายพันธุ์ต่อไปตามวงจรชีวิตธรรมชาติ
กล้วยไม้สกุลรองเท้านารี Paphiopedilum
กล้วยไม้รองเท้านารี (Lady’s Slipper) เป็นกล้วยไม้สกุล Paphiopedilum มีชื่อเรียกอื่นๆ อีกหลายชื่อ เช่น รองเท้านาง รองเท้าแตะนารี หรือ บุหงากะสุต ในภาษามาเลเซีย อันหมายถึงรองเท้าของสตรี เนื่องจากกลีบดอก หรือที่เรียกว่า “กระเป๋า” มีรูปร่างคล้ายกับรองเท้าของสตรีและรองเท้าไม้ของชาวเนเธอแลนด์ กระเป๋าของรองเท้านารีมีรูปร่างลักษณะและสีสันแตกต่างกันไปตามชนิดพันธุ์
กล้วยไม้รองเท้านารี มีแหล่งกำเนิดอยู่ในเขตอบอุ่น และเขตร้อนแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งแต่อินเดีย ฟิลิปปินส์ พม่า มาเลเซีย และในประเทศไทยซึ่งพบกล้วยไม้รองเท้านารีขึ้นอยู่ในป่าทั่วๆ ไป บางชนิดเกาะอาศัยอยู่ตามต้นไม้ แต่ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นพวกที่ขึ้นอยู่ตามพื้นดินหรือซอกหินที่มีต้นไม้ใบหญ้าเน่าตายทับถมกัน เจริญงอกงามในที่โปร่ง ไม่ชอบที่รกทึบ แสงแดดส่องถึง
รองเท้านารี เป็นกล้วยไม้ประเภทแตกกอเช่นเดียวกับ หวาย คัทลียา และซิมบิเดียม ต้นที่แท้จริงเรียกว่า ไรโซม (เหง้า) ต้นหนึ่งหรือกอหนึ่งจะประกอบด้วยต้นย่อยหลายต้น รากออกเป็นกระจุกที่โคนต้นและมักจะทอดไปทางด้านราบมากกว่าหยั่งลึกลงไป หน่อใหม่จะแตกจากตาที่โคนต้นเก่า มีลำต้นสั้นมาก แต่ไม่มีลำลูกกล้วย ใบมีขนาดรูปร่างต่างกันไป บางชนิดมีใบยาว บางชนิดใบตั้งชูขึ้น บางชนิดใบทอดขนานกับพื้น บางชนิดใบมีลาย บางชนิดใบไม่มีลายแต่เป็นสีเดียวเรียบๆ การออกดอกจะออกที่ยอด มีทั้งชนิดออกดอกเป็นดอกเดี่ยว และออกดอกเป็นช่อ กลีบดอกชั้นนอกกลีบบนมีขนาดใหญ่สะดุดตา ส่วนกลีบชั้นนอกคู่ล่างจะเชื่อมติดกันและมีขนาดเล็กลงจนส่วนปากบังมิดหรือเกือบมิด กลีบคู่ในซึ่งมีลักษณะเหมือนกันกางออกไปทั้ง 2 ข้างซ้ายขวาของดอก ส่วนกลีบในกลีบที่ 3 จะเปลี่ยนเป็น “กระเปาะ” คล้ายรูปรองเท้า กระเปาะนี้มีหน้าที่รับน้ำฝนตกลงไปเพื่อชะล้างเกสรตัวผู้ไปตัดกับแผ่นเกสรตัวเมีย กล้วยไม้สกุลนี้จะมีทั้งเกสรตัวผู้และเกสรตัวเมียอยู่ในดอกเดียวกัน แต่จะมีเส้าเกสรแตกต่างจากกล้วยไม้ทั่วๆ ไป คือ ที่ปลายสุดของเส้าเกสร แทนที่จะเป็นอับเรณูกลับเป็นแผ่นบางๆ ซึ่งทางพฤกษาศาสตร์ถือเป็นเกสรที่เปลี่ยนรูปร่างไปใช้การไม่ได้ เรียกส่วนนี้ว่า “สตามิโนด” สำหรับเกสรตัวผู้ที่ใช้การได้มีอยู่ 2 ชุด โดยจะอยู่ถัดต่ำลงมาทั้ง 2 ข้างของเส้าเกสรข้างละ 1 ชุด ในแต่ละชุดจะมีอับเรณูลักษณะเป็นก้อนแข็งอยู่ 2 อัน ถัดต่ำลงมาจากส่วนนี้อีกจะเป็นยอดเกสรตัวเมียซึ่งเป็นแอ่งลึกลงไปยึดติดกับเส้าเกสร (ปกติส่วนนี้จะถูกหูกระเป๋าโอบหุ้มเอาไว้จนมิด) ภายในมีน้ำเมือกเหนียวสำหรับยืดเกสรตัวผู้ที่ตกลงไปในแอ่ง รังไข่อยู่ตรงส่วนของก้านดอก ภายในรังไข่ยังไม่มีการพัฒนาเป็นไข่อ่อน จนกระทั่งผสมเกสรแล้วจึงเกิดไข่อ่อนในรังไข่ รังไข่จะกลายเป็นฝักเมื่อฝักแก่จะแตกเมล็ดสามารถเจริญงอกงามเป็นต้นใหม่ได้
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)